Home

ข้อเสนอเกี่ยวกับพื้นฐานในการเข้าใจดนตรีสมัยนิยมสำหรับวงวิชาการ[1] 

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสนำเสนอประเด็นของงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับดนตรีสมัยนิยม (ในแขนงที่ผมถนัดซึ่งก็คือสาย Punk กับสาย Metal)ของผมกับมิตรสหายของผมในวงวิชาการอย่างไม่เป็นทางการ ปัญหาที่ผมพบคือ คำหลายๆ คำที่คนฟังเพลงกระหน่ำระห่ำอย่างผมใช้นั้นไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกับที่พวกเขา (ซึ่งน่าจะอ่านหนังสือมาอย่างระห่ำกระหน่ำไม่น้อยไปกว่าการฟังเพลงของผม) ใช้กันทั่วๆ ไปซึ่งก็น่าจะเป็นความหมายหลวมๆ ที่คนทั่วๆ ไปใช้ 

ด้วยเหตุตรงนี้จึงทำให้ผมจึงต้องลงไปอธิบายในรายละเอียดในประเด็นพวกนี้เพื่อจะสร้างความชัดเจนมากขึ้นอันเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการศึกษาประเด็นเหล่านี้ต่อไป ปัญหาที่ผมพบก็คือ โครงสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมโนทัศน์เกี่ยวกับแนวดนตรีต่างๆ ที่คนทั่วๆ ไปนั้นมีนั้นสามารถสร้างความสับสนได้มาก สิ่งที่ผมต้องทำก็คือผมคิดว่าผมต้องแก้ไขตรงนี้ไปพร้อมๆ กับ อธิบายเกี่ยวกับประวัติดนดรีร็อคตั้งแต่ราวๆ ต้น 70 เป็นต้นมาด้วย ซึ่งเป็นงานที่หนักเอาการอยู่ 

ตรงนี้ผมกล้าพูดตรงๆ เลยว่าผมทำไม่ได้อย่างสั้นและกระชับ (แปลว่าทำได้อย่างยืดยาวและรุงรัง อันไม่เหมาะจะเป็นคำตอบในบริบทที่คำตอบควรจะสั้นและกระชับ) ซึ่งมันนำมาสู่คำตอบอันกระอักกระอ่วนสำหรับผมในทุกๆ ครั้ง[2] ที่ผมไม่ค่อยจะพอใจกับมันเท่าไรนัก เมื่อคิดได้ดังนี้ผมจึงกลับมาคิดอย่างจริงจังว่า อะไรคือปัญหาที่ทำให้หลายๆ คนนั้นไม่สามารถเข้าใจในหลายๆ สิ่งที่ผมเสนอได้ (หรือถ้าจะให้ตรงกว่านั้นอะไรคือสิ่งที่ผมอยากเสนอแต่ไม่สามารถเสนอได้ เพราะ ผมคิดว่ามันสร้างความสับสนได้ และ มันต้องอธิบาย ผมไม่สามารถอธิบายได้จึงไม่ได้เสนอ) และพยายามจะกลั่นมันมาเป็นข้อเขียนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจโดยทั่วๆ ไปสำหรับดนตรีสมัยนิยมและข้อเขียนของผม 

ผมขอเริ่มข้อเขียนนี้อย่างเป็นทางการด้วยข้อสังเกตที่ผมประสบพบเจอในประเด็นเกี่ยวกับการพูดคุยและสื่อสารเกี่ยวกับดนตรีสมัยนิยม ผมพบว่าโดยทั่วๆ ไปแล้วคนทั่วๆ ไปจะมีข้อตั้งต้น (Presupposition[3]) ดังนี้ 

  1. วงดนตรีหนึ่งๆ หรืองานดนตรีหนึ่งๆ นั้นจะต้องระบุแนวได้ – เห็นได้จากคำถามทั่วๆ ไปที่ว่า วงนี้แนวไหน ในระดับหนึ่งแล้วการถามอย่างนี้ต้องมีข้อตั้งต้นว่ามีคำตอบอยู่
  2. แนวดนตรีหนึ่งๆ นั้นจะต้องมีความหมายเดียวจะต้องบ่งชี้ไปยังสิ่งเดียวเสมอ –  สังเกตุได้จากคำตอบทั่วๆ ไปที่ ผู้รู้ นั้นมักจะบอกเกี่ยวกับดนตรีแนวหนึ่งๆ ว่ามันจะมีลักษณะอย่างนี้ๆ สิ่งที่ขาดหายไปจากคำตอบในแบบนี้คือ ความเป็นไปได้ที่ชื่อแนวดนตรีหนึ่งๆ นั้นจะถูกใช้ในความหมายที่หลากหลาย ซึ่งแทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิงในบางครั้ง

ผมเห็นว่าข้อตั้งต้นทั้งสองนั้นเป็นสิ่งที่มีปัญหามากในฐานะที่มันเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในดนตรีสมัยนิยม สิ่งที่ผมต้องการที่จะทำในงานเขียนชิ้นนี้ก็คือ ผมจะเอา ข้อตั้งต้น (Presupposition) ทั้งคู่ออกจากระบบคิดของผู้อ่านซึ่งมันจะทำให้การเข้าใจข้อคิดข้อเขียนเกี่ยวกับดนตรีของผมได้ง่ายขึ้นต่อไป 

อย่างไรก็ดีผมคิดว่าผมได้พูดถึงข้อสังเกตข้อแรกนั้นมาบ่อยมากๆ เป็นเวลานานมากๆ แล้ว[4]ดังนั้นผมจะไม่ทำการแตะตรงนี้ในที่นี้ และ ข้ามไปข้อที่สองเลย 

โดยปกติแล้วทุกวันนี้เวลาผมได้พบเจอชื่อแนวดนตรีต่างๆ สิ่งที่ผมจะตระหนักอยู่ตลอดเวลาก็คือ 

  1. ชื่อแนวนี้มันอาจใช้สื่อถึงดนตรีที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงได้
  2. ชื่อแนวต่างๆ นั้นอาจมีความหมายที่ต่างๆ กันไปในพื้นที่ และ เวลาที่ต่างๆ กัน

แน่นอนด้วยพื้นฐานความคิดแบบนี้ตัวชื่อแนวดนตรีแต่ละอย่างนั้นไม่สามารถเข้าใจได้อย่างเที่ยงตรงเมื่อมันปรากฏขึ้นมาลอยๆ บริบทที่มันปรากฏนั้นสำคัญมากๆ ในการทำความเข้าใจมัน ตัวอย่างเช่น ความหมายของคำว่า Heavy Metal ที่ปรากฏในงานเขียนทางดนตรีตอนกลางยุค 70 นั้น เป็นสิ่งที่แตกต่างจากความหมายโดยทั่วไปของคำนี้ที่ปรากฏในนิตยสารดนตรีเกี่ยวกับ Heavy Metal ในปัจจุบันแน่ๆ คำว่า Heavy Metal ในตอนกลางๆ 70 นั้นมีความหมายรวมไปถึงหลายๆ อย่างที่คนฟังเพลงทุกวันนี้จัดไปเป็นหมวดหมู่อื่นๆ (ที่ค่อนข้างจะมีความแตกต่างที่ชัดเจนกับ Heavy Metal ในความหมายปัจจุบัน) เช่น Hard Rock, Progressive เป็นต้น ผมเชื่อว่าทุกวันนี้หลายๆ คนเมื่อพูดถึง Heavy Metal เขาจะไม่นึกถึงวงอย่าง Cream หรือ King Crimson แน่ๆ (ผมก็ไม่นึก) และเหนือไปกว่านั้นผมคิดว่าน้อยคนลงไปอีกที่จะรู้ว่าวงพวกนี้ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกกันทั่วๆ ไปว่า Heavy Metal 

แน่นอนการเปลี่ยนไปของความหมายตามกาลเวลานั้นเป็นเรื่องปกติของคำในภาษาที่ยังไม่ตาย ซึ่งประเด็นตรงนี้อาจเป็นปัญหาของนักประวัติศาสตร์ดนตรีร่วมสมัย ไม่ใช่ปัญหาของคนทั่วๆ ไปในการสื่อสาร อย่างไรก็ดีการปรากฏตัวขึ้นมาของคำๆ เดียวกันที่ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิงในช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกันนั้นก็สร้างความสับสน(ไปจนถึงหงุดหงิด) ได้ไม่น้อย 

ตัวอย่างเช่น คำว่า Hardcore นั้นก็เป็นคำที่คนไทยทั่วๆ ไปในปัจจุบันนั้นเข้าใจว่าหมายถึงแนวดนตรีที่ปรากฏขึ้นมาชัดเจนก่อนสิ้นสหัสวรรษไม่นานอันมี ท่อนริฟฟ์กีต้าร์แบบโยกๆ ไลน์กลองที่ได้รับอิทธิพลจากฮิปฮอป และ การร้องกึ่งตะโกนกึ่งสำรอกไปจนถึงการแร็ปเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ซึ่งแนวดนตรีนี้มักจะถูกเรียกกันในหมู่คนที่ฟังเพลงร็อคอย่างจริงจังว่า Nu-Metal วงดนตรีดังๆ ในกระแสดนตรีนี้ ก็ได้แก่ Korn, Limp Bizkit, Linkin Park เป็นต้น ในขณะที่คำว่า Hardcore สำหรับผู้ที่ฟังเพลงอย่างจริงจังนั้นจะหมายถึงกลุ่มดนตรีที่ปรากฏขึ้นทั่วอเมริกาตอนต้นทศวรรษที่ 80 ซึ่งได้รับอิทธิพลของคลาสสิคพังค์มาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ เรื่องวิถีแบบ DIY และ การต่อต้านค่ายเพลงใหญ่ ซึ่งมีวงดังๆ ในกระแสดนตรีอย่าง Black Flag, Dead Kennedys, Minor Threat, Bad Brains เป็นต้น  หรือสิ่งที่เป็นกระแสที่ต่อเนื่องมาอย่าง Metalcore ก็เช่นเดียวกันที่สร้างความสับสนเพราะ คำนี้ก่อนหน้านี้ก็หมายถึงดนตรีในอีกรูปแบบเช่นเดียวกัน จริงๆ ประเด็นเหล่านี้ก็มักจะเป็นที่พบในอาณาบริเวณอื่นๆ ของดนตรีเช่นกันอย่างเช่น เรื่องเพลงอินดี้ ที่คนมักจะชอบเถียงกับว่ามันเป็น วิถีการทำเพลงแบบอิสระจากค่ายใหญ่ (ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวรูปแบบดนตรีเลย) หรือ ว่ามันเป็นรูปแบบดนตรีที่ชัดเจนกันแน่ (ดังนั้นค่ายใหญ่ก็สามารถมีศิลปินที่ทำเพลง อินดี้ อยู่ในสังกัดได้) ถ้าภายใต้กรอบคิดของผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนจะบอกว่ามันเป็นทั้งคู่ ผู้เขียนคิดว่าปัญหาที่ว่ามันต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นปัญหาจอมปลอม (Pseudo-Problem) ที่ผู้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องลงไปแตะในฐานะผู้ศึกษา  ถ้าจะว่ากันไปจริงๆ แล้วในอาณาบริเวณของภาพยนตร์เองก็มีประเด็นทำนองนี้เช่นกัน เช่น หนังคัลท์ ที่จะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า มันเป็นหนังที่มีแฟนๆ ชื่นชมและติดตามเยี่ยงลัทธิ (ซึ่งเป็นความหมายไม่ได้บอกอะไรกับตัวหนังเช่นกัน) ส่วนมีคนอีกกลุ่มหนึ่งจะเข้าใจว่ามันเป็นหนังซอมบี้เกรดบีที่เต็มไปด้วยฉากแหยะๆ จนน่าขันของญี่ปุ่น 

อย่างไรก็ดีในกรณีของหนังนั้นผู้เขียนเห็นว่า กลุ่มแรกนั้นจะมี  อำนาจ (Authority) ในการกำหนดความหมายมากกว่า กล่าวคือ เป็นความเห็นที่มีน้ำหนักมากกว่ามากๆ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บรรดานักวิจารณ์, ผู้เชี่ยวชาญ และ คนดูหนังพวกนี้ มักจะมีความเห็นไปทางเดียวกัน เมื่อผู้รู้รวมตัวกันเพื่อตรึง (ผมนึกถึงคำว่า ขึงพืด แฮะ) ความหมายแล้ว ความหมายมันก็จะค่อนข้างชัดเจนขึ้นในระดับกว้าง ซึ่งก็จะส่งผลให้เวลาเขียนงานวิชาการนั้นไม่มีปัญหาพวกนี้เท่าไรนัก 

แต่ในกรณีของดนตรีนั้นไม่เป็นอย่างนั้นอย่างน้อยๆ ก็ในสายร็อค  บรรดานักวิจารณ์นั้นแทบจะไม่เคยเห็นตรงกันเลยในรายละเอียด ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีนั้นก็แทบจะลืมไปได้เลย เพราะ คนที่เรียนดนตรีมาสูงๆ นั้นก็ไม่ค่อยจะมีแนวโน้มลงมาเผชิญหน้ากับสภาวะอนาธิปไตยของความหมายของชื่อแนวเพลงเท่าใดนัก และ ถึงคนพวกนี้จะลงมาพูดประเด็นพวกนี้จริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ยากอีกที่คนที่ฟังเพลงพวกนี้อยู่แล้วจะรับฟัง (ยังไม่ต้องไปถึงประเด็นที่ว่าจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า) ในระดับถึงที่สุดแล้วผู้เขียนนั้นเชื่อว่า แทบจะไม่มีใครนั้นมีหมวดหมู่ในการจัดประเภทเหมือนกันเป๊ะด้วยซ้ำ แต่ละคนสร้างระเบียบในการจัดประเภทเหล่านี้จากประสบการณ์ในการฟังเพลงของตัวเอง (ซึ่งก็ยากจะเหมือนกันอยู่แล้วในแต่ละคน) และ ชื่อแนวดนตรีต่างๆ ที่ตนรับรู้มา 

อย่างไรก็ดีในภาพกว้างๆ นั้น ก็มีความหมายในทางดนตรีหลายๆ ชุดนั้นร่วมกันอยู่ในแต่ละคน มิเช่นนั้นก็คงจะคุยกันไม่รู้เรื่องเลยเหมือนกัน นี่คือกรณีของคนที่ฟังเพลงมากๆ สำหรับคนที่ฟังเพลงมาไม่สู้มากนักและได้ยินศัพท์แสงแปลกๆ จากสื่อ และนำไปจัดประเภทดนตรีในแบบที่หลวมๆ มากๆ (ที่คนฟังเพลงมากๆ มักจะเรียกว่า มั่ว) นั้นเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนได้อย่างมหาศาลแน่นอนโดยเฉพาะ คนที่พูดแล้วคนอื่นๆ มักจะเชื่อ เช่น คนที่เล่นดนตรี (ผู้เขียนคิดว่ามันเป็นมายาคติที่สำคัญมากๆ อย่างหนึ่งที่คนทั่วๆ ไปมักจะให้อำนาจในการนิยามความหมายกับพวกนักดนตรี ด้วยความเชื่ออย่างหลวมๆ ว่าคนพวกนี้รู้เรื่องดนตรีเยอะ ฟังเพลงมามาก ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้เขียนพบคือว่า นักดนตรีจำนวนมากๆ ที่ผู้เขียนพบนั้นฟังเพลงน้อยและแคบมาก เมื่อเทียบกับนักฟังเพลงจริงๆ หรือพวกนักวิจารณ์- แถมการจัดหมวดหมู่ดนตรีในหลายๆ ครั้งยังดูพิลึกพิลั่นและน่าขันในสายตาคนฟังเพลงมากๆ ด้วย) 

เมื่อเป็นดังนี้แล้วการตระหนักถึงระนาบความหมายที่ซ้อนทับกันในการใช้หมวดหมู่ในทางดนตรีในสังคมปัจจุบันไปนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งถ้าเราต้องการจะเข้าใจมัน 

ในแง่นี้แล้วคำถามว่า แนวดนตรีนี้คืออะไร? นั้นจึงเป็นคำถามที่มีปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะมัน มีข้อตั้งต้นโดยนัยว่ามันมีขอบเขตของความหมายที่ชัดเจนและตายตัวอันเดียวสำหรับแนวดนตรีหนึ่งๆ (ซึ่งอย่างที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นด้านบนแล้วว่าในกรณีจำนวนมากนั้นมันไม่ใช่) ในหลายๆ ครั้งคำถามนี้ก็สร้างความลำบากใจให้กับผู้ตอบเช่นกัน อย่างไรก็ดีผู้ตอบทั่วๆ ไปก็มักตอบไปอย่างสอดคล้องกับ ข้อตั้งต้นของผู้ถามคำถาม (ทั้งๆ ที่หลายคนน่าจะรู้ ถึงความหมายที่ลื่นไหลไปเรื่อยๆ แน่ๆ … หรือว่าเขาขี้เกียจอธิบาย?) ซึ่งจะเป็นเพียงความหมายชุดหนึ่ง ที่ถูกยึดโยงกับแนวดนตรีเหล่านั้นเท่านั้น ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ชื่อแนวดนตรีหนึ่งๆ นั้นถูกยึดโยงกับความหมายมากกว่า 1 ชุด มันจึงทำให้คำตอบดังกล่าวนั้นไม่สมบูรณ์ หรือ ถ้าจะให้ตรงกว่านั้นก็คือ คำตอบในทำนองดังกล่าวนั้นไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลย 

เนื่องจากคำถามดังกล่าวนั้นมีปัญหาดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอให้ถามใหม่ว่า ชื่อแนวดนตรีนี้ถูกใช้ในกี่ความหมาย? นี่เป็นการเปลี่ยนข้อตั้งต้นใหม่และให้มันฝังตัวลงไปในคำถามเลย 

อันที่จริงแล้วความเข้าใจเรื่อง 1 คำหลายความหมายนั้นถ้าจะลงไปให้ลึกกว่านั้นอีกมันก็เป็นความเข้าใจที่สำคัญในการเข้าใจทฤษฎีความคิดเหมือนกัน คำหลายๆ คำเช่น Subject, Discourse, Postmodernity ฯลฯ นั้นล้วนแต่มีความหมายที่หลากหลายในรายละเอียดในต่างๆ นักคิดเช่นกัน ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วคำถามที่ว่า “Subject คืออะไร? นั้นก็ไม่ได้สร้างความปวดกบาลในการอธิบายไปน้อยกว่า “Punk คืออะไร? สักเท่าไรในระดับการผิดจุด (Miss the Point) ของคำถาม ดังนั้นผู้เขียนจึงมักจะถามกลับบ่อยๆ ว่า คุณจะเอา Subject ของใครล่ะ? Descartes, Foucoult, Althusser, Lacan, etc.” เช่นเดียวกันเมื่อเจอคำถามว่า “Punk คืออะไร? ผู้เขียนก็จะต้องร่ายยาวถึงไลน์การพัฒนาของมันเพื่อจะตอบคำถามให้ได้อย่างเฉพาะเจาะจงขึ้นเช่นกัน (เพราะ ไม่สามารถถามกลับได้เพราะ โดยทั่วไปคนที่ถามอย่างนั้นจะไม่มีพื้นฐานของพัฒนาการของ Punk อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าถามกลับให้วางกรอบคำถามให้แคบกว่านี้ ผู้เขียนก็ยังต้องอธิบายเพิ่มอยู่ดี) 

หลายๆ คนนั้นอาจมีความเห็นว่าในบางระดับแล้วคำถามง่ายๆ ทำนองนี้อาจจะตอบไปในทำนองลักษณะทั่วๆ ไปของมโนทัศน์นั้นๆ ก็ได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าการตอบแบบนั้นยิ่งสร้างความคลุมเครือขึ้นไปอีกและอาจทำให้เข้าใจผิดด้วยซ้ำ อาทิเช่น มันก็เป็นเรื่องพื้นฐานทั่วๆ ไปที่จะเข้าใจว่า Subject นั้นโดยหลวมๆแล้วหมายถึง Self แต่นั่นก็ทำให้เข้าใจผิดไปได้อีกว่า Self ในความหมายของนักคิดแต่ละคนนั้นมีความคล้ายคลึงจนกระทั่งเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแน่ๆ เพราะ Subject ของ Foucoult กับ Lacan[5] นั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกันเลยทีเดียว คนอย่าง Althusser นั้นมีการแยก Subject กับ subject ในฐานะที่เป็นสิ่งที่แตกต่างกันโดยชัดเจน และนี่ก็ยังไม่ได้รวมความหมายของ Subject ในระนาบอื่นๆ ของนักคิดคนอื่นๆ อีก (ยังไม่ต้องไปพูดถึง Subject ใน Field อื่นๆ) 

Punk ก็เช่นกันที่มีความหมายที่ซับซ้อนสุดๆ จนแทบจะไม่สามารถระบุความทั่วๆ ไปของมันได้ แก่นสารที่สำคัญมากๆ ของมันอย่าง DIY (Do-It-Yourself) และ การต่อต้านบรรษัทใหญ่ (หรือค่ายเพลงใหญ่) นั้นถูกทำลายไปอย่างชัดเจนที่สุดเมื่อมีพวก Pop Punk โผล่มาและโด่งดังในช่วงต้น 90 (ดังนั้นเราไม่สามารถบอกได้เฉยๆ แล้วว่า พังค์ นั้นมีลักษณะ DIY และ การต่อต้านบรรษัทใหญ่ อย่างน้อยๆ ก็กับคนทั่วๆ ไปที่เข้าใจว่า Punk คือ Greenday) นอกจากนั้นแล้วลักษณะย่อยๆ อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของตัวดนตรีพังค์ (ซึ่งเราก็มักจะ Presuppose เช่นกันว่าคนเล่นก็ต้องเป็น Punk) รวมไปจนถึงการแต่งกายของพวกทั้งหมดที่ถูกเรียกว่าพังค์ในประวัติศาสตร์ราว 30 ปีของมันในสื่อกระแสหลักต่างๆ (สื่อกระแสหลักสนใจ Punk ตั้งแต่ราวๆ ปี 1976 เมื่อ Sex Pistols เริ่มก่อเรื่องวุ่นวายต่างๆ) นั้นยังแทบจะว่าจุดร่วมกันไม่ได้ ตั้งแต่หัวโมฮอว์คเสื้อหนัง ไปจนถึง หัวเกรียนเสื้อยืด (ซึ่งไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป) นั้นล้วนถูกเรียกว่า Punk มาแล้วทั้งสิ้นในสื่อต่างๆ (และเป็นความหมายที่ใช้กันทั่วๆไปด้วย) ดนตรีที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า Punk จำนวนมากก็มีรายละเอียดเกินกว่าที่จะบอกว่ามันเป็นความเรียบง่าย ของการย้อนกลับไปสู่รากฐานของ Rock N’ Roll ด้วยเหตุดังนี้เองคำถามง่ายๆ อย่าง “Punk คืออะไร? นั้นจึงสร้างความกระอักกระอ่วนในการตอบสำหรับคนอย่างผู้เขียนที่ค่อนข้างซีเรียสกับคำตอบของตนยิ่งนัก 

ด้วยเหตุในทำนองนี้เองผู้เขียนจึงเห็นว่าการแยกเข้าใจความหมายสิ่งเหล่านี้ในแต่ละอาณาบริเวณที่แยกกันค่อนข้างชัดเจนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเมื่อเราไปตรงนั้นได้แล้วการจะเข้าใจความเหมือนกันของแต่ละระนาบของความหมายนั้นก็จะทำได้อย่างเหมาะสมขึ้น 

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วเราน่าจะไปให้มันลึกและปวดกบาลกว่านี้อีกนิด และ ตระหนักถึงความแตกต่างของคำเดียวกันในตัวข้อเขียนหนึ่งๆ เอง (หรือ คำพูด ฯลฯ ที่อยู่ในระนาบของภาษา) จริงๆ ถ้าจะเข้าใจในบริบทของภาษาไทยแล้วเราอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นคำสองคำที่ทั้ง พ้องรูป และ พ้องเสียง ก็ได้ ผู้เขียนเห็นว่าการมีข้อตั้งต้นของการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้นั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เรานั้นอ่านงานปรัชญาอันน่าปวดกบาลหลายๆ ชิ้นรู้เรื่องแล้ว มันยังทำให้ความเข้าใจในงานเขียนดนตรีหลายๆ ชิ้นนั้นเป็นระบบมากขึ้นได้อีกด้วย การมีข้อตั้งต้นตรงนี้นั้นทำให้เรามี ช่องว่าง (Gap) ในการเข้าใจหลายๆ อย่างที่ดูจะเหมือนๆ กันในงานเขียนชิ้นเดียวกัน (และต่างชิ้นกันด้วย) และมันจะทำให้เรามีสำนึกในการจัดหมวดหมู่ของความหมายของคำเหล่านี้ และไม่อ่านมันไปผ่านๆ เฉยๆ และเข้าใจว่ามันเหมือนๆ กัน 

ผู้เขียนได้ประเด็นนี้มาจากวรรคหนึ่งในงานของ Lacan ที่เขาพยายามจะพูดถึงความแตกต่างของ ตัวหมาย (signifier) ตัวเดียวกัน หรือ ถ้าจะให้ตรงกว่านั้นก็คือ ความแตกต่างกันของตัวหมายสองตัวที่ดูเหมือนกันทุกอย่าง แนวคิดโดยรวมในย่อหน้านั้นค่อนข้างจะชัดเจน แต่เมื่ออ่านแล้วจะพบว่ามีประโยคที่ยอกย้อนสุดๆ อยู่ประโยคหนึ่งได้แก่ 

“It is that the signifier with which one designates the same signifier is evidently not the same signifier as the one with which one designates the other” 

ผู้เขียนใช้เวลาเข้าใจมันเป็นเวลาราวๆ 2-3 ชั่วโมง จึงคัดมาให้ดูเล่นๆ ซึ่งตรงนี้ Lacan นั้นบอกว่า ปัญหาในประโยคที่ดูขัดแย้งในตัวเองหลายๆ อย่างนั้นแก้ง่ายนิดเดียวคือการ เปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่ว่าคำเดียวกันที่ปรากฏขึ้นสองครั้งในประโยคนั้นเป็นคนละตัวกัน 

ไม่ว่านี่จะเป็นการทำให้ความซับซ้อนของสิ่งที่ Lacan เสนอนั้นสามานย์ขึ้นแต่เพียงใดก็ตามแต่มันก็มีประโยชน์ไม่น้อยเลยกับการเปลี่ยนแปลงในระดับข้อตั้งต้นของผู้ที่พยายามทำความเข้าใจความหมายต่างๆ อันยุ่งเหยิงในหมวดหมู่ต่างๆ ของดนตรีสมัยนิยม 

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วผู้เขียนก็พบว่ามีประเด็นในทางทฤษฎีอีกประเด็นที่มีความน่าสนใจอย่างมากซึ่งมันก็สอดรับพอดีกับความเข้าใจในเรื่องหมวดหมู่ดนตรีต่างๆ ประเด็นดังกล่าวก็คือ ความเป็นไปได้ที่ Genus นั้นจะเป็น Species ของมันด้วย  

Genus และ Species ในที่นี้แล้วไม่ใช่ศัพท์ในทางชีววิทยาแต่เป็นศัพท์ในทางปรัชญา ถ้าจะกล่าวให้สั้นแล้ว Genus นั้นคือหมวดหมู่ใหญ่ ส่วน Species นั้นคือหมวดหมู่ย่อยๆ ของ Genus เป็นต้น เช่นถ้า Genus คือสัตว์ แล้ว Species ต่างๆ ก็ คือ หมู, หมา, กา, ไก่, ช้าง, ม้า, วัว, ควาย เป็นต้น เราสามารถพูดถึง Genus และ Species ได้ในหลายระดับ Species นั้นก็จะกลายเป็น Genus ถ้าเราพูดถึงหมวดหมู่ย่อยๆ ของมัน (ซึ่งก็จะเป็น Species ในอีกระดับ) เช่นเมื่อครู่นั้น หมูเป็น Species ของ สัตว์ แต่เมื่อเราพูดถึงหมวดหมู่ย่อยๆ  ของหมู เช่น หมูป่า หมูบ้าน หมูก็จะกลายเป็น Genus ที่มี หมูป่า และ หมูบ้าน เป็น Species ของมัน 

ประเด็นที่ว่า Genus นั้นจะลงไปพบตัวมันเองใน Species นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่อาจฟังดูแปลกๆ (แต่ประเด็นในทางปรัชญาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความประหลาดน้อยไปกว่ากันสักเท่าไร) เป็นประเด็นทางปรัชญาที่ดูจะปวดกบาล (มันก็ดูจะปวดกบาลเกือบหมดแหละ) แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนฟังเพลงสายร็อคนั้นลองคิดดีๆ แล้ว จะพบว่าเราพบกับมันบ่อยๆ จนแทบจะไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องแปลก สิ่งดังกล่าวนั้นก็คือ Punk และ Heavy Metal นั่นเอง  

เมื่อเราพูดถึงหมวดหมู่ใหญ่ๆ  (Genus) อย่างดนตรีร็อคแล้วหมวดหมู่ย่อยๆ (Species) ที่เราจะพบภายในนั้น ก็จะมีหลากหลาย อาทิเช่น Rock N’ Roll, Folk Rock, Blues Rock, Space Rock, Psychedelic Rock, Stoner Rock Progressive Rock, Electronic Rock และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่ขาดไปไม่ได้ในที่นี้ก็คือ Punk Rock และ Heavy Metal 

ตรงนี้ถ้าจะพูดง่ายๆ แล้วก็คือ Punk Rock และ Heavy Metal นั้นเป็นดนตรีร็อคประเภทหนึ่ง (นี่คือการแบ่งหมวดหมู่กว้างๆ โดยไม่สนใจการจัดประเภทตัวเองของดนตรีเหล่านั้น เพราะคนที่ข้อแวะกับ Heavy Metal จำนวนมากนั้นก็ไม่ได้เห็นว่า Heavy Metal นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ ร็อค แต่อย่างใด) นี่คือในระดับแรกที่ Punk Rock กับ Heavy Metal เป็น Species ของ Genus Heavy Metal 

ต่อมาในอีกระดับหนึ่งแล้วทั้ง Punk Rock และ Heavy Metal นั้นก็มีสถานะเป็น Genus เช่นกัน กล่าวคือ ทั้งคู่เป็นหมวดหมู่ดนตรีใหญ่ที่มีประเภทดนตรีย่อยๆ ในสาย Heavy Metal (ที่คนฟังมักจะเรียกว่า Metal เฉยๆ) นั้นมี Heavy Metal, NWOBHM (New Wave Of British Heavy Metal), Speed/Thrash Metal, Melodic/Power Metal, Death Metal, Black Metal, Stoner/ Doom Metal, Gothic Metal ฯลฯ ส่วนในสาย Punk Rock (ที่คนฟังเพลงมักจะเรียกว่า Punk เฉยๆ) นั้นเป็นสิ่งที่บอกค่อนข้างยากกว่า เพราะมันไม่มีความชัดเจนแบบพวก Metal (ที่ดูนามสกุลปุ๊บรู้เลย) อย่างไรก็ดีสิ่งที่ชัดเจนก็คือ สิ่งเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกระแสที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า Post-Punk ซึ่งรวมดนตรีไว้สารพัดรูปแบบที่กำเนิดขึ้นมาตอนปลาย 70 ต้น 80 ไม่ว่าจะเป็น Hardcore (ดูด้านบนประกอบ ผมใช้ในความหมายของคนที่ฟังเพลงค่อนข้างจริงจัง), New Wave, No Wave, Gothic, Indie Rock ฯลฯ ซึ่งหลายๆ คนก็จะรวมเอา Grunge และ Pop-Punk ในยุค 90 รวมไปด้วย แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ เวลาพูดถึงดนตรีในสาย Punk แล้วสิ่งที่จะต้องถูกรวมเข้าไปด้วยอย่างแน่นอนก็คือ Punk นั่นเอง  

คำถามคือ นี่คืออะไร? อะไรคือปรากฏการที่เกิดขึ้นที่ Heavy Metal นั้นเป็นหมวดหมู่ย่อยของดนตรีสาย (Heavy) Metal และ Punk (Rock) นั้นเป็นหมวดหมู่ย่อยของดนตรีในสาย Punk (Rock) ด้วย นี่คือปรากฏการที่น่าจะพอเรียกว่า Species นั้นเป็น Genus ของมันด้วย ทั้ง Punk และ Metal นั้นได้สร้างความหมายในความแตกต่างในสองระนาบในระนาบแรกมัน เป็นดนตรีร็อคชนิดหนึ่ง และ ระนาบที่สองมันเป็นดนตรี Punk และ Metal ชนิดหนึ่ง 

ความหมายที่ทับกันอยู่ในสองระนาบนี่สร้างความสับสนได้อย่างมหาศาลกับผู้ที่ไม่ได้มีความเข้าใจตรงนี้ ซึ่งเมื่อเข้าใจตรงนี้แล้วเมื่อเราเจอมโนทัศน์พวกนี้แล้วเราก็ต้องมองมันโยงกับบริบทเพื่อจะเข้าใจว่ามันกำลังมีความหมายในระนาบไหน 


[1] โดยทั่วไปแล้วผมมักจะไม่เขียนงานไปในทำนองที่จะเป็นการปูพื้นฐานให้กับผู้อ่านในประเด็นอื่นๆ ต่อไปในอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้มันก็ทำให้ผมนั้นจำเป็นต้องกลับมาคิดใหม่อย่างจริงจังในประเด็นนี้ มิเช่นนั้นความคิดหรือข้อเขียนหลายๆ อย่างของผมนั้นก็อาจไม่สามารถสื่อความกับหลายๆ ท่านได้ นอกเหนือจากนี้แล้วในทางกลับกันผมคิดว่าเมื่อทำการเคลียร์พื้นฐานตรงนี้แล้วข้อเขียนหลายๆ อย่างของผมนั้นจะเป็นที่เจ้าใจได้ง่ายขึ้นอีกมากๆ เลยสำหรับหลายๆ ท่าน[2] โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าตัวคำถามนั้นสามารถสร้างความประหม่าและละอายให้กับผมได้เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็นเรื่องที่ผมรู้ดีแต่ไม่รู้จะตอบให้ผู้ฟังรู้เรื่องได้อย่างไร ดูประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระความคำถาม (Question) กับความละอาย (Shame) ได้เพิ่มเติมที่ Slavoj Zizek, The Sublime Object of Ideology, (Verso, 1989)

[3] ซึ่งก็คือ วิธีคิดตั้งต้นพื้นฐานที่ไม่ถูกตั้งคำถาม หรือ สิ่งที่คนจะคิดว่ามันจะเป็นไปในทางนั้นถ้าไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติม (ตรงนี้คล้ายกับมโนทัศน์ Default มากๆ) ผมว่าน่าสนใจเหมือนกันที่ภาษาไทยนั้นไม่มีคำนี้ปรากฏอยู่  มีแต่คำใกล้เคียงอย่าง ข้อสันนิษฐาน ซึ่งผมว่า Sense ต่างกันมาก ผมจึงขอแปลคำนี้อย่างประหลาดๆ ว่า ข้อตั้งต้น เพื่อสื่อความกับผู้อ่านในสองระดับ ระดับแรกคือ สื่อความในแบบตรงตัว ผมคิดว่าคำว่าข้อตั้งต้นนั้นมีความหมายใกล้เคียงกับ Presupposition มากๆ ในระดับตรงตัวและมันก็มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Premise อีกด้วย ซึ่งในตรงนี้ผมไม่ได้คิดว่าสองคำนี้เหมือนกันมากๆ ในประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อ ส่วนการสื่อความในระดับที่สอง คือการที่คำว่า ข้อตั้งต้น นั้นไม่ใช่คำปกติในภาษาไทย ดังนั้นมันจะทำให้ผู้อ่านทั่วๆไปเผชิญหน้าคำนี้ด้วยความเคยชินหรือ ข้อตั้งต้น อื่นๆไม่ได้ ผู้อ่านต้องทำความรู้จักมันใหม่ ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของผมเช่นกัน

[4] โดยสั้นๆแล้วผมเคยเสนอว่าสิ่งที่ทำให้ดนตรีแนวหนึ่งๆ เป็นดนตรีแนวนั้นๆ ก็คือวงเกรดบีในแนวนั้นๆ เพราะ ลักษณะร่วมของวงจำนวนมากนั้นเป็นคุณลักษณะสำคัญที่จะทำให้คำๆ หนึ่งนั้นถูกใช้เรียกแนวโน้มทั่วๆ ไปของกลุ่มดนตรีหนึ่งๆ ในยุคสมัยหนึ่งๆ พวกวงดังๆ หรือวงเกรดเอนั้นร้อยทั้งร้อยแทบจะมีลักษณะพิเศษว่าวงเกรดบีในแนวดนตรีที่มันถูกจัดไปรวมด้วย กล่าวคือส่วนประกอบดนตรีของวงดนตรีพวกนั้นคือ แนวดนตรีนั้นๆ + เอกลักษณ์ ในขณะที่วงเกรดบีนั้นก็แทบจะร้อยทั้งร้อยจะไม่มีส่วนประกอบที่เกินไปกว่าแนวดนตรีนั้นๆ เลย โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่รู้จักแต่วงดังๆ และเห็นวงเหล่านั้นเป็นตัวแทนของแนวดนตรีหนึ่งๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คนเข้าใจว่าทุกๆ ส่วนของงานของวงดังๆ นั้นเป็นส่วนประกอบของแนวดนตรีนั้นๆ แน่นอนว่า ทุกๆ ส่วน นั้นหมายถึงเอกลักษณ์ที่ผมได้กล่าวถึงด้วย กระบวนการในการเข้าใจ ข้อยกเว้น ว่าเป็น สิ่งปกติ ดังนี้ทำให้ชื่อเรียกแนวดนตรีหนึ่งๆ นั้นขยายคุณสมบัติไปเรื่อยๆ และสร้างความสับสนได้มาก                โดยสั้นแล้วงานของวงดังๆ นั้นอาจจัดเข้าไปอยู่ในแนวดนตรีหนึ่งๆ ได้จริง แต่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ งานของวงพวกนี้มักจะเป็นอะไรที่มากกว่านั้นเสมอ

[5] Slavoj Zizek, The Sublime Object of Ideology, (Verso, 1989)

Dialectic of Pop-Rock Taste: ข้อคิดและวิจารณ์บางประการจากการอ่านงาน รสนิยม ป็อป ร็อคในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของดนตรียอดนิยม/แบบอาดอร์โน 

Introduction: The Encounter เมื่อช่วงตอนปลายปีที่แล้วผมได้เข้าฟังการนำเสนอเปเปอร์ในงานเวทีวิจัยมนุษย์ศาสตร์ เปเปอร์ที่ผมรู้สึกสะดุดใจมากๆ ก็คือ เปเปอร์ของคุณ ดุษฎี วรธรรมดุษฎี นามว่า รสนิยม ป็อป ร็อคในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของดนตรียอดนิยม/แบบอาดอร์โน 

ในเปเปอร์นั้นดุษฎีได้เริ่มด้วยการร่ายทฤษฎีอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของ Adorno ตรงนี้ผมไม่ตงิดเพราะไม่มีความรู้พอจะตะหงิด (ผมเพียงแค่เคยอ่านงานมือสองภาษาไทยมาบ้างและอ่านบท Culture Industry ผ่านๆ ผมว่ารู้แค่นี้แล้วไปวิจารณ์มันก็จะโปกฮาเกินไป) ต่อมาดุษฎีเริ่มพูดถึงมุมมองของ Adorno ต่อ Jazz (ซึ่งจัดเป็น Popular Music ในสมัยที่ Adorno เขียนงานตอนต้น ศตวรรษที่ 20) ตรงนี้ผมเริ่มตะหงิด (แต่ก็ตะหงิดตั้งแต่ได้อ่านมาจากที่อื่นแล้ว เคยได้ยินว่าบางคนตงิดตรงนี้ขนาดปฏิเสธงาน Adorno ไปทั้งดุ้นด้วยซ้ำ) และแล้วเปเปอร์ก็จบลงด้วยการวิเคราะห์รสนิยม ป็อป ร็อค ผ่านวิธีคิดเกี่ยวกับ Popular Music ของ Adorno ตรงนี้ผมบอกตรงๆ เลยว่าตงิดมากสุดๆ

โอเค มาเริ่มงานชิ้นนี้อย่างเป็นทางการกัน ผมจะขอวางกรอบข้อวิจารณ์และคำถามของผมต่องานชิ้นนี้ไว้สำหรับงานค่อนหลังเท่านั้น ในการวิเคราะห์ Popular Music ของ Adorno และการใช้มันวิเคราะห์รสนิยม ป็อป ร็อค ของดุษฎี

ประการแรก ผมขอกล่าวสั้นๆ (ตามประสาคนรู้น้อยแล้วไม่อยากพูดมาก) ว่า ผมคิดว่ากรอบการมอง Popular Music ของ Adorno นั้นมีแนวโน้มไปในทางตีขลุมและเหมารวมมากๆ (แม้ว่าสำหรับ Adorno นั้น Bad Music อย่าง Jazz นั้นก็ยังจะมี Good กับ Bad แยกกันอยู่) เป็นการมองอะไรที่อยู่ภายใต้ตรรกะของ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเหมือนๆ กันหมด ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน(Standardization) ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความแตกต่างที่มาตรฐานอนุญาตให้แตกต่างเท่านั้น หรือ อีกนัยนัยน์หนึ่ง ความแตกต่างที่ไม่สร้าง ความแตกต่าง (คำของผมเอง เอามาจาก Zizek) ถ้ามองในกรอบแบบนี้ เผลอๆ Jazz ตอนต้นศตวรรษที่ 20, The Beatles, Britney Spears ไปจนถึงพวกวง Death Metal (ในยุคหนึ่ง) ก็อาจเหมือนๆ กันหมดก็ได้เพราะ ในระดับหนึ่งตกอยู่ใต้ตรรกะของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเหมือนกัน และอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน … 

… โอเค สิ่งเหล่านี้มันอาจจะเหมือนกัน (หรือมีความแตกต่างที่ไม่สร้าง ความแตกต่าง) ถ้าคุณมองมันจากบางกรอบ (เช่นของ Adorno?)  ตรงนี้ผมไม่มีปัญหา กรอบใครกรอบมันอยู่แล้ว ถ้ากรอบมันไม่มีประสิทธิภาพยิ่งนักต่อการศึกษาเรื่องหนึ่งๆ มองอะไรก็เหมือนกันหมดไม่สามารถจับความแตกต่างอันเป็นประเด็นศึกษาได้ กรอบนั้นก็ควรจะตกไป (จริงไหม?) กล่าวคือ ถ้า Adorno นั้นมอง Popular Music นั้นเหมือนๆ กันไปหมดจริง คนที่จะศึกษาสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า Popular Music ในรายละเอียดย่อยๆ ในฐานะที่มันแตกต่างกันนั้นจะใช้ Adorno ไปทำหมีแพนด้าอะไร จริงไหมครับ? 

อย่างไรก็ดีปัญหาของผมเป็นอีกระดับที่ต่อมาจากตรงนี้ ปัญหาคือว่า เมื่อกรอบในการมองแบบเหมารวมเหล่านี้ ได้ขยายตัวไปในวงกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็ไม่ใช่แค่มันเป็นกรอบที่ไม่มีประสิทธิภาพในการศึกษาประเด็นหนึ่งๆ แต่ว่ามันทำให้ ประเด็นนั้นๆไม่ใช่ประเด็นที่สมควรไปศึกษาด้วยซ้ำ หรือ ถ้าจะพูดไปให้มากกว่านั้นแล้วกรอบความคิดที่เหมารวมอย่างนี้นั้นสามารถนำไปใช้ในการเมืองเชิงวิชาการ (Academic Politics) ในการ Discredit ประเด็นเหล่านั้นได้อีกด้วย ทำให้มันต่ำค่าเกินกว่าจะศึกษา

แน่นอนนี่ไม่ใช่ปัญหาของคนทุกคน แต่ดูจะเป็นปัญหาของคนที่ศึกษาประเด็นเหล่านั้นในรายละเอียดเสียด้วยซ้ำ

แต่นั่นคือปัญหาของผมนี่!

Critique of Adornian Reason??? 

ในตอนสุดท้ายของเปเปอร์ดังกล่าวนั้นดุษฎีนั้นได้ร้อยเรียงความเหมือนกันของ The Beatles, Aerosmith, Bon Jovi, Nirvana และ Linkin Park เข้าไว้ด้วยกันภายใต้มโนทัศน์ รสนิยมป็อป ร็อค (ดุษฎีเน้นว่าเป็น รสนิยม ไม่ใช่แนวเพลง) ที่พอเคลือบฉาบคำอธิบายไปแล้วดนตรีของวงต่างๆ ที่กล่าวมาก็ดูเหมือนกันไปหมด (ภายใต้อุตสาหกรรมวัฒนธรรม) อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันหมด

ถ้าจะถามผมแล้ว ดนตรีและภาพลักษณ์ของทั้ง 5 วงที่กล่าวมานั้นแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย (และคนที่ฟังเพลงโดยทั่วๆ ไปก็น่าจะคิดแบบนั้น) ดังนั้นการกล่าวว่าวงพวกนี้ เหมือนกัน นั้นจึงเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดไม่น้อยเลยแม้ว่าจะมองแค่ดนตรีและภาพลักษณ์ (ยังไม่ต้องไปพูดถึงบริบทที่วงต่างๆ นั้นมีชื่อเสียง และสถานะของวงเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ดนตรีร็อค) ในแง่นี่แล้วคำถามที่ว่าดนตรีพวกนี้เหมือนกันอย่างไร จึงเป็นคำถามที่ท้าทายไม่น้อยเลยสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับดนตรีเหล่านี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ฟังของเปเปอร์นี้คือวงวิชาการซึ่งส่วนใหญ่ไม่น่าจะเคยได้ฟังงานดนตรีของวงข้างต้นทั้ง 5 ด้วยซ้ำ (ไม่ต้องพูดถึงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดนตรีร็อคในระดับกว้างๆ) และส่วนใหญ่ก็อาจมองว่าของพวกนี้ดนตรีของวัยรุ่นนั้นเป็นสิ่งที่เหมือนๆ กันไปหมดด้วยซ้ำ … ด้วยพื้นฐานของผู้ฟังในทำนองนี้เปเปอร์นี้ก็ได้ทำการยืนยันทรรศนะคติหลวมๆ ทำนองเพลงวัยรุ่นก็เหมือนๆกันไปหมดได้เป็นอย่างดี … และคนเหล่านั้นก็อาจเอนกายลงอย่างสบายและผ่านประเด็นอัน เหมือนๆ กันไปหมด เหล่านี้อย่างไม่ต้องใส่ใจ เพราะ มันไม่มีอะไรให้ศึกษา หรือ อีกนัยน์หนึ่งหน้าที่ของแนวคิดทำนองนี้ทำให้ทรรศนะคติแบบเหมาร่วมที่มีอยู่แล้วของหลายๆ คนนั้นมีทฤษฎีมาสนับสนุน

ซึ่งนี่คือ สิ่งที่ผมตะหงิดที่สุด เพราะ มันเป็นการปูฐานที่ไม่เอื้อให้มีการศึกษาเรื่องพวกนี้ต่อไปแม้แต่นิด (แน่นอนผมต้องเห็นว่าเรื่องพวกนี้สำคัญและต้องศึกษา มันเป็นจริตของคนที่เล่นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่แล้ว)

ผมคิดว่าดุษฎีนั้นเอาแนวคิดทำนอง ไม่มีอะไรใหม่ เป็นบรรยากาศหลักของตรงส่วนนี้ แค่ตอนแรกที่มีการบอกว่า ดนตรีป็อปทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเชิงอรรถของThe Beatles ก็ทำให้ผมแอบขำแล้ว (ประโยคเต็มๆ คือ ในโลกของดนตรียอดนิยม the beatles [sic] ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านดนตรี  ลุค (ลักษณะของความเป็นศิลปินดนตรี) การแสดงตลอดทั้งรูปแบบในการดำเนินชีวิต วงดนตรีรุ่นหลังจากนั้นเป็นเพียงเชิงอรรถ) เพราะ มันเป็นแนวคิดทำนอง เดียวกับ พวกกรีกว่าไว้หมดแล้ว ซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการศึกษาแต่งานกรีกอย่างเดียวในทางปรัชญา ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นแล้วล้วนเป็นสิ่งจิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับงานกรีก

แน่นอนถ้าเริ่มคิดว่า The Beatles ทำมาหมดแล้ว แล้วเริ่มมองดูหรือจับผิดเมโลดี้ของดนตรีอื่นๆ หลังจากนั้น ก็จะพบเมโลดี้ที่คล้ายๆ The Beatles เต็มไปหมดซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนตัวโน๊ตหน่อย เปลี่ยนจังหวะหน่อย  … ซึ่งนั่นก็คงจะเป็นสิ่งที่พูดอีกก็ยิ่งถูกอีกเพราะ ดนตรี Pop และ Rock โดยทั่วๆ ไปแล้วมีฐานจาก Major Scale อันมีโน๊ต 7 ตัวอยู่แล้ว โอกาสที่บางส่วนจะซ้ำกับงานที่มีความหลากหลายมากมายอย่าง The Beatles นั้นมีอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามองว่าความต่างที่เกิดขึ้น นั้นเป็นการ ดัดแปลง สิ่งที่ The Beatles ทำมาแล้วยิ่งแล้วใหญ่

นี่แหละครับ เงื่อนไขที่ผมเห็นว่าข้อเสนอทำนอง “The Beatles ทำมาหมดแล้ว จะยังทำงานอยู่ได้ในบริบทของตัวเมโลดี้ดนตรี ตรงนี้จะเห็นได้ว่ามโนทัศน์อย่าง ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน (หรือ ความแตกต่างที่ไม่สร้างความแตกต่าง) นั้นสามารถขยายตัวไปอธิบายได้สารพัด ภายใต้แนวคิดทำนองทุกๆ อย่างนั้นเป็นเพียงของ ดัดแปลง (Variation) ของต้นฉบับ (Original) 

อย่างไรก็ดีถ้าจะถามไปให้มันลึกลับซับซ้อนไปกว่านั้นกับประเด็นเรื่อง ความเป็นต้นฉบับ (Originality) อีกก็ต้องถามว่า The Beatles เป็นศิลปินที่ทำอย่างนั้นเป็นวงแรกจริงๆ หรือ? (ซึ่งขุดไปขุดมาอาจจะไปโผล่ที่ J.S. Bach ในที่สุดก็ได้)

ส่วนในเรื่อง ลุค (ลักษณะของความเป็นศิลปินดนตรี) การแสดงตลอดทั้งรูปแบบในการดำเนินชีวิต นั้นผมว่าการจะกล่าวว่าสิ่งหลังจากนั้นเป็นเพียง เชิงอรรถ ของ The Beatles นั้นก็เป็นสิ่งที่ฟังดูขัดๆ อยู่มากทีเดียว เพราะ ถึงแม้ The Beatles จะได้ผ่านยุคสมัยมามาก (ตั้งแต่ไว้ผมทรงกะละครอบอันโด่งดัง ไปจนถึงยุคที่รุงรังเป็นฮิปปี้) มันก็เป็นการเกินเลยไปจริงๆ อยู่ดีที่จะบอกว่า The Bealtles นั้นทำไว้หมด ตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่น การเปลือยกายตอนถ่ายปกและเล่นสดของ Red Hot Chili Peppers (ซึ่งดุษฎีก็พูดถึงวงนี้ตอนพรีเซนต์เปเปอร์), การช่วยตัวเองใส่คนดูในคอนเสิร์ตของ Marilyn Manson ผมคิดว่าพวกนี้ดังและยอดนิยมพอที่จะจำเป็นต้องมาเข้าข่ายคำอธิบายอยู่แล้ว คำถามคือ ถ้าสิ่งพวกนี้เป็น เชิงอรรถ ของ The Beatles แล้ว ตัวบทของ The Beatles ที่สิ่งพวกนี้อ้างอิงนั้นอยู่ที่ไหน? แน่นอนผมหาไม่เจอ (และนี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่นึกออกเท่านั้น) 

การพูดถึง Aerosmith และ Bon Jovi เกี่ยวกับเพลง บัลลาด (Ballad) ก็ดูจะเหมือนเป็นการเลือกเอาเพลงบางเพลงมาเป็นตัวอย่างให้เข้ากับ บรรยากาศทำนองจิ๊กโก๋อกหัก และ เพลงทำนองฉันรักเธอ เธอไม่รักฉัน (ที่ดูราวกับว่าไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ต้องรอ The Beatles ก็ได้เท่าที่เคยได้ยินมาเพลงพื้นบ้านจำนวนมาก็มีธีมเพลงแบบนี้) ซึ่งเอาจริงๆ แล้วเนื้อหาของเพลงของวงอย่าง Aerosmith และ Bon Jovi ก็มีมากกว่านั้น สำหรับ Aerosmith ก็เช่น Janie’s Got a Gun, Dude (Looks Like a Lady) สำหรับ Bon Jovi ก็เช่น Livin’ On a Prayer, These Days ที่ล้วนเป็นเพลงดังที่ไม่เกี่ยวกับจิ๊กโก๋อกหักแน่ๆ (แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเพลงของสองวงนี้ที่เนื้อหาไม่ได้ น้ำเน่า) นอกจากนี้แล้วเพลงในทำนองจิ๊กโก๋อกหักของวงพวกนี้นั้นยังมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง การยกประเด็น การใช้เมโลดี้ การประพันธ์ในส่วนของดนตรีมากอีกด้วย (แน่นอนผมเทียบกับเพลงตลาดไทย) เหนือไปกว่านั้นในระยะเวลา 20-30 ปีที่ทั้งสองวงนั้นได้ดำเนินการมานั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงมากอีกด้วยทั้งดนตรีและภาพลักษณ์ซึ่งทำให้ปัญหาคือ เวลาพูดถึงสองวงนี้เราพูดถึงมันตอนไหน? (มีนัยยะสำคัญเพราะมีแฟนเพลงจำนวนมากหันหลังให้กับสองวงนี้หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ Aerosmith ในยุคแรกนั้นทำเพลงโดยไม่พึ่งพานักแต่งเพลงเป็นร็อคแอนด์โรลโจ๊ะๆ ที่มีบัลลาดปน ในขณะที่เพลงในยุคหลังจากการแยกวงชั่วคราวนั้นมีนักแต่งเพลงอาชีพมาร่วมสังฆกรรมด้วยทั้งสิ้น Bon Jovi ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกันในสองชุดหลังไม่ว่าจะเป็นลุค หรือเพลง) หรือ ตอนไหนก็ได้ที่มันเข้ากับคำอธิบายเรื่อง รสนิยมป็อป ร็อค? อย่างไรก็ดีผู้เขียนคิดว่าคำอธิบายที่ว่า เพลงของทั้งสองวงนั้น มีลุคที่เป็นกลิ่นอายความเป็น cowboy [sic] ลูกทุ่งแบบอเมริกันนุ่งยีน ยืนหน้าบาร์ ยกเบียร์ขึ้นดื่ม พอเวลาเมาก็ต่อยกันจนถูกโยนออกมานอกร้าน ทำตัวเป็น bad boy [sic] ขับรถเก่าๆ ดูเก๋าข้ามรัฐ ในส่วนนี้ของเปเปอร์นั้น เป็นสิ่งที่แปลกสำหรับผู้เขียน เพราะ ในสายตาของผู้เขียนแล้วพวกนี้เป็นร็อคสตาร์ที่น่าจะสูงเกินกว่าจะให้ภาพในแบบ บ้านๆ แบบนั้น ผู้เขียนอาจจะรู้เรื่องของวงพวกนี้มากเกินไปก็ได้จึงไม่มีจินตนาการไปทางนั้น 

สำหรับส่วนต่อไปที่พูดถึง Nirvana นั้น ผู้เขียนคิดว่าเป็นปัญหาที่สุด เพราะ โดยทั่วๆ ไปแล้วสำหรับคนที่ฟังเพลงและรู้เรื่องดนตรีการที่ Nirvana ขึ้นมาดังได้แทบจะเป็นการปฏิวัติวงการเลยทีเดียว มันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนรสนิยมดนตรีของมวลชวนอย่างเฉียบพลันตอนต้น 90 (ที่ทำให้พวก Hair Metal หัวฟูแห่งยุค 80 รวมทั้ง Bon Jovi นั้นระเนระนาดไปเลยทีเดียว) ปัญหาก็คือ กรณีตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนรสนิยมอย่างรวดเร็ว (แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ดนตรีตรงนี้ก็จะคิดว่า Nirvana มาจากไหนก็ไม่รู้) รสนิยมในการฟังเพลงเปลี่ยนไปแน่ (ยังไม่ต้องโยงถึงเรื่องอื่นๆ เช่นการโยง Nirvana กับ Punk ที่มันจะมีประเด็นสำคัญๆที่ต้องพูดอีกมาก) ประเด็นคือ ภายใต้แนวคิด รสนิยมป็อป ร็อค แล้วสิ่งพวกนี้เหมือนกันหมดเลยหรือ? การเป็นพวกแฟนเพลงเมทัลยุค 80 ที่เล่นกีต้าร์เร็วปรี๊ด กับการเป็นแฟนเพลง Nirvana ที่ใครๆ ก็เล่นได้นั้นเหมือนกันขนาดนั้นเลยหรือ? ถ้าเหมือนกันขนาดนั้น รสนิยมป็อป ร็อค ก็ไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่มวลชนชอบภายใต้ระบบธุรกิจดนตรีในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งก็คงจะต้องมาว่ากันในรายละเอียดเหมือนกันว่า รสนิยมและการบริโภคงานเหล่านั้นในแต่ละยุคมันละม้ายกันขนาดนั้นจริงๆ หรือ? และที่สำคัญมากๆ ความขบถต่อตัวอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นภายในตัวมันเองได้เลยหรือ? (ดูประเด็นนี้ต่อไปด้านหน้า) และที่แปลกที่สุดก็คือ ตรงนี้ดุษฎีดุษฎีดูจะไม่ได้ทำการเชื่อมโยงลักษณะต่างๆ ของ Nirvana ให้เข้ากับ มาตรฐาน ภายใต้รสนิยมป็อป-ร็อคเลย นอกจากนี้ลักษณะต่างๆ ของ Nirvana ที่ดุษฎียกมายังดูจะสร้าง ความต่าง มากกว่า ความเหมือน ที่คำอธิบายเหล่านี้ได้กรุยทางมา ผู้เขียนจึงสงสัยยิ่งนักว่าดุษฎียกตรงนี้มาทำไม เพราะ มันทำให้คำอธิบายนั้นดูจะมีปัญหาไม่น้อยเลย 

กรณีสุดท้ายที่ดุษฎียกมาคือ Linkin Park ผู้เขียนคิดว่ามีปัญหาพอๆ กับ Nirvana เพราะ นี่คือดนตรีอีกรูปแบบหนึ่งที่มีเนื้อหาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคำอธิบายที่ว่า มันเหมือนๆกัน ไม่น่าจะไหลไปได้ง่ายๆ โดยปราศจากคำอธิบายที่เหมาะสม  ดุษฎีบอกว่า “linkin’ park [sic] … ผสมผสานทางดนตรีโดยนำเอาสัดส่วนเพลงยอดนิยมแบบรสนิยมป็อปร็อคมาเป็นพื้นฐานโครงสร้างและทำการเรียบเรียงทำนองด้วยการเครื่อง [sic] turntable และการ sampling จากนั้นใช้การร้องแบบ rap เป็นลูกคู่ไปพร้อมกับการร้องแบบร็อคเสียงแหบและกีต้าร์เสียงแตกด้วยทำนองดนตรีที่คุ้นหูเพียงแต่รูปแบบการเล่นต่างไปบ้าง (ตัวเอียงเน้นโดยผู้เขียน) โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่าประโยคที่ผู้เขียนเน้นนั้นดูจะเป็นการยืนยัน (Assert) มากกว่าการพิสูจน์ (Proof) หรือ อธิบาย (Explain) นอกจากนี้แล้วการจะบอกว่า Linkin Park นั้นเอา สัดส่วนเพลงยอดนิยมแบบรสนิยมป็อปร็อคมาเป็นพื้นฐาน และนำสิ่งอื่นๆ มาเสริมให้มันต่างออกไปนั้น ยังเป็นประโยคในทำนอง พูดอีกก็ถูกอีก ในทำนองที่ได้กล่าวมามากข้างต้นแล้ว มามันสามารถใช้ในการตีขลุมได้อย่างไรบ้าง (จริงๆ ผู้เขียนคิดว่าการจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้เหมือนกันได้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดในตัวเอง แต่มันต้องการคำอธิบายที่เหมาะสม จุดที่เหมือนก็ต้องชี้ให้ชัด ไม่ใช่ให้คนอ่านนึกเอาเอง- โครงสร้างเพลงมันเหมือนกันอย่างนี้ๆ ก็ว่าไป โน๊ตมันเหมือนกันอย่างนี้ๆ ก็ว่าไป จุดที่ต่างแต่ไม่เป็นประเด็นว่า แตกต่าง ก็น่าจะได้รับคำอธิบายอย่างเหมาะสมกว่านี้ว่าทำไมมันถึงไม่ แตกต่าง) 

อย่างไรก็ดีโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่าแนวคิด รสนิยมป็อป-ร็อค ของดุษฎีนั้นจะจะใช้อธิบายเพลงไทยสมัยนิยมได้เหมาะกว่ามากๆ เพราะ สิ่งเหล่านี้เองที่แทบจะเรียกได้ว่า เนื้อหา และโครงสร้างนั้น น้ำเน่า จริงๆ แพตเทรินของดนตรีสมัยนิยมเมืองไทยนั้นเรียกได้ว่า เดาได้เกือบหมดยิ่งในระดับเมโลดี้ด้วยแล้วแทบจะมีสูตรด้วยซ้ำที่คนฟังครั้งแรกก็อาจจะเดาออก เนื้อหาของเพลงก็เป็นจิ๊กโก๋อกหักเกือบ 100 ทั้ง 100 ผมว่าอย่างนี้แหละสมควรจะใช้ Adorno สมควรจะใช้กระบวนทัศน์อย่าง การทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (อย่างไรก็ดีอาจมีคนฟังเพลงไทยจริงๆ มาเถียงผมประเด็นเหล่านี้ก็ได้ ว่าผมอธิบายตีขลุมเกินไป แน่นอนผมยินดี อยากด้วยซ้ำ- ที่จะรับฟังข้อโต้แย้งที่น่าจะล้มคำอธิบายนี้) 

Ending Remarks: Spectres of Adorno and the Liberative Music 

(ตอนแรกผมคิดว่าจะเขียนส่วนนี้ลงไปเพราะ ผมได้รวบรวมประเด็นมาในระดับหนึ่ง แต่หลังจากศึกษามาเพิ่มแล้วก็พบว่าไม่เขียนดีกว่าเพราะความรู้ไม่พอเอามากๆ เลย อนึ่งมันมีดีเบตที่สำคัญของฝ่ายซ้าย -?- ในตอนที่ดนตรีร็อคปรากฏขึ้นมา ฝ่ายหนึ่งจะเห็นว่ามันเป็นดนตรีแห่งการปลดปล่อย ส่วนอีกจะเห็นว่ามันกดขี่ ผมคิดว่าถ้าผมไม่รู้ตรงนี้ผมไม่ควรจะเขียนส่วนนี้ของบทความ และกว่าผมจะรู้ก็คงจะอีกนาน นอกจากนี้แล้วตรงนี้มันก็ยังเป็นประเด็นใหญ่มากๆ จนมันอาจมีสถานะเป็นตัวบทความ หรือกระทั่งงานชิ้นหนึ่งด้วยซ้ำ … ด้วยเหตุดังนี้แล้วผมจึงขอจบบทความนี้แบบที่ทิ้งร่องรอย (Traces) ไว้อย่างนี้แหละครับ) 

In Short: What is Punk? … And Its Criticism 

คำว่า Punk นั้นถูกใช้ในวงการดนตรีตั้งแต่ราวๆ ต้น 70 แล้วส่วนใครจะเริ่มใช้ผมไม่แน่ใจว่าเป็น Dave March, Lenny Kay หรือ Lester Bang (อย่างไรก็ดีคำๆ นี้เป็นคำภาษาอังกฤษเก่าที่ปรากฏแม้แต่ในงานของ William Shakespear)

แต่สำหรับ Punk Rock รุ่นแรกที่เรารู้จักกันทุกวันนี้โดยทั่วๆไปนั้นเราจะเรียกกลุ่มดนตรีที่ปรากฏขึ้นที่ New York และ London ประมาณปี 1975-1976 ผมจะขอเรียกพวกนี้ว่า Classic Punk เพื่อแยกมันออกจากพวกอื่นๆ[1]

ที่ New York นั้นพวก Classic Punk นั้นไปรวมตัวกันที่คลับ CBGB (ซึ่งพึ่งปิดไปปลายปีที่แล้ว ปี 2006) ที่ว่ากันว่าด้านในกลิ่นเหมือนฉี่” คลับนี้มีกฏว่า วงที่มาเล่นต้องเล่นเพลงตัวเองเท่านั้น พวก Classic Punk ของ New York นั้นก็เริ่มเติบโตมาจากตรงนี้ วงที่ถูกจัดอยู่ในซีนนี้ก็เช่น Television, The Ramones, Patti Smith, Richard Hell and The Voidoids (ขอไม่พูดถึงเรื่องพวก Proto-Punk เพราะจะยุ่งกันไปอีกอาจต้องลากไปพูดถึง The Factory ของ ป้า Andy Warhol) ถ้าลองมาดูแล้วจะพบว่ารูปแบบดนตรีพวกนี้หลากหลายมากๆ (แต่บอกว่าไอ้ที่ผมกล่าวมา 4 ชื่อเป็นดนตรีแนวเดียวกันก็แปลกแล้วในมาตรฐานความคล้ายคลึงกันของดนตรีของปัจจุบัน อย่างไรก็ดีเขาก็จัดพวกนี้ว่าเป็น Punk รุ่นแรกกัน) เนื้อหาก็ค่อนข้างหลากหลาย ว่ากันว่าส่วนใหญ่จะเน้นการทำลายล้าง ที่เรียกว่า สูญนิยม (Nihilistic) สิ่งที่พวกนี้ต่างจากพวกอังกฤษมากๆ ก็คือประเด็นทางการเมืองจะน้อยมาก ดูจะเน้นหมกมุ่นกับตัวเอง ตามประสาคนที่ Artist มากๆ อย่างไรก็ดีเพลงที่มีเนื้อร้องที่ค่อนข้างจุ๋มจิ๋มก็ยังมีอยู่ (จริงๆ บางเพลงของ Ramones นี่แหละแต่คนไม่ค่อยพูดถึง)

ต่อมา Classic Punk ของ London นั้นมักจะเป็นที่จดจำเพราะวงอย่าง Sex Pistols นั้นสร้างความวุ่นวายมากๆ และเครื่องแต่งการต่างๆ ของวัยรุ่นที่ถนน Queen (ถ้าจำไม่ผิด) นั้นก็เป็นที่เตะตามากๆ ด้วย วงในรุ่นนี้ที่ดังๆ ก็เช่น The Clash, Siouxsie and The Banshees, The Buzzcocks, The Damn, X-Ray Spex, The Slits, The Adverts ฯลฯ

ถ้าจะถามผมแล้วรูปแบบของดนตรี Punk Rock นั้นน่าจะมาลงตัวที่วงรุ่นนี้ของอังกฤษแหละ เพราะ มันมีการสับเพาเวอร์คอร์ดง่ายๆ ด้วยริธิ่มง่ายๆ พวกกับบีตกลองง่ายๆ ที่ชัดเจนจนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นกระแสดนตรี (ต่างจากพวกนิวยอร์คที่ดูจะหลากหลายกว่ามากในรูปแบบ) แต่ผมไม่ได้บอกว่านี่เป็นของใหม่นะ เพราะ มันปรากฎมาชัดๆ อย่างต่ำก็ตั้งแต่ต้น 70 แล้ว (เผลอๆตั้งแต่ตอนปลาย 60 แต่ผมหามาฟังไม่ได้เลยไม่ชัวร์) พวก Punk นั้นทำให้มันดังเท่านั้น

สำหรับเนื้อหาของพวก Punk นั้น โดยทั่วๆไปมักจะเชื่อกันว่าพวกนี้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ผมว่าตรงนี้มีปัญหา เพราะ เอาจริงๆ ผมไม่เห็นว่าจะมีวงไหนชัดเจนกับตรงนี้เลยนอกจาก Sex Pistols (ถ้ามีวงเดียวเป็นอย่างนี้จะบอกได้อย่างไรว่า Punk โดยรวมๆ เป็นอย่างนี้ มันฟังดูเป็น ข้อยกเว้น มากกว่า ลักษณะทั่วไป) เรื่องการต่อต้านรัฐบาลก็เช่นกันวงที่ชัดสุดๆ ก็แทบจะมีแต่ The Clash เท่านั้น (ทั้งสองประเด็นนี้ถ้าใครสามารถชี้เป็นเพลงๆ ประเด็นๆ ไปนอกเหนือจากที่ผมกล่าวมาก็ช่วยบอกผมด้วย จะเป็นประโยชน์มาก เพราะ ผมหาไม่เจอจริงๆ จากการแสกนเนื้อหาเพลงคร่าวๆ ของผม)

จะว่าไปแล้ว Punk อังกฤษโดยรวมๆ นั้นน่าจะเรียกได้ว่ามีเนื้อหาไปทางต่อต้านสังคมมากกว่าที่จะต่อต้านอะไรโดยเฉพาะ เพราะอย่างน้อยๆ จุดร่วมกันของเนื้อเพลงพวกนี้จะมีอยู่เพียงตรงที่มันเล่นกับประเด็นต้องห้าม” ของสังคมด้วยซ้ำ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คำอธิบายที่ว่า Punk ของอังกฤษนั้นเป็นปรากฏการณ์จากวิกฤติเศรษฐกิจของอังกฤษตั้งแต่ต้น 70 อันทำให้ชนชั้นแรงงานจำนวนมากตกงาน และคนหนุ่มสาวชนชั้นแรงงานพวกนั้นแหละที่ทำให้ Punk นั้นเฟื่องฟู (แต่ที่ว่า Classic Punk อังกฤษนั้นเป็นประแสต่อต้านรัฐบาลแธตเชอร์นั้นน่าจะผิดแน่ๆ เพราะ แธตเชอร์ขึ้นมาปี 79 ซึ่งตอนนั้นกระแสพังค์นั้นซาไปแล้วด้วยซ้ำ)

และก็มีการว่ากันอีกว่า Classic Punk นั้นเป็นกระแสต่อต้านดนตรีอันซับซ้อนที่มีอยู่ตอนต้น 70 ไม่ว่าจะเป็นพวก Heavy Metal, Hard Rock หรือ Progressive Rock ในตอนนั้นมีการกล่าวหาว่าพวกร็อคสตาร์เก่าๆ เช่น Clapton ชักจะทำตัวเป็น Mainstream มากเกินไป ทำให้จิตวิญญาณขบถของ Rock นั้นหายไป (ซึ่งก็สอดคล้องกับที่วัฒนธรรม Hippy แห่ง 60 นั้นได้สูญเสียความขบถของมันไป) พวก Punk นั้นพยายามจะทำตรงนี้ให้บริสุทธ์ขึ้นโดยทำให้ดนตรีร็อคนั้นเป็นดนตรีของขบถอีกครั้ง โดยการทำให้ดนตรีเล่นง่ายขึ้น (เหลือแต่แก่นสารของร็อค) อันทำให้ช่องว่างระหว่างคนเล่นและคนฟังแคบลง (เพราะคนฟังก็สามารถเป็นคนเล่นได้ไม่ยาก – ซึ่งต่างจากช่องว่างของพวก Rock Star และ แฟนเพลงของพวกเขาราวฟ้ากับดิน)

จริงๆ ถ้าจะถามผมแล้วผมว่า จริงๆ มันไม่ได้ถูกทำขึ้นมาเพื่อต่อต้านอะไรที่ชัดเจนขนาดนั้นแต่แรกหรอก (อย่างน้อยก็ในอังกฤษ อเมริกาผมไม่ชัวร์) มันมีสายการพัฒนาทางดนตรีของมันตั้งแต่ Proto-Punk ต้นๆ 70 แล้ว (หรือ ถ้าจะลากกันจริงๆ ก็ตั้งแต่ Velvet Underground ของ 60 ) ดนตรีอย่างนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นๆ 70 แล้วเป็นอย่างต่ำ และงานที่ฟังดูเหมือนคนเล่นดนตรีไม่เป็นในสายร็อคก็มีมาตั้งแต่ปลาย 60 เป็นอย่างต่ำแล้ว (งานชุดแรกของ The Velvet ออกปี 67 และที่อาการหนักกว่านั้นมากๆ Trout Mask Replica ของ Captain Beefheart ออกปี 69) ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะว่ารูปแบบดนตรี Punk ตอนปลาย 70 นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านดนตรีที่ซับซ้อนได้อย่างไร? (เพราะเขาถ้ามองว่าแบบนี้คือการต่อต้านในรูปแบบดังกล่าว เขาก็ทำกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว) อย่างไรก็ดีผมเห็นว่าคำอธิบายที่เข้าท่ากว่าก็คือ พังค์นั้นดังขึ้นมาดังได้จังหวะตอนคนเหม็นเบื่อพวก Rock Star รุ่นเก่าๆ พอดี (ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ซึ่งมันอาจจะมาอิ่มตัวตอนครึ่งหลังของ 70 พอดี) รูปแบบดนตรีที่ไม่เคยทำหน้าที่ต่อต้าน (สำหรับแฟนเพลงในวงกว้าง) มันจึงสามารถทำหน้าที่ต่อต้านได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่การต่อต้านของดนตรีพังค์แต่เป็นการต่อต้านของแฟนเพลงมากกว่าที่ต้องการความเท่าเทียมและเกลียดความสูงส่งของพวก Rock Star จึงหันไปสนับสนุนดนตรี Punk

อีกทรรศนคติที่ว่ากันว่าพวก Punk นั้นบุกเบิกคือวิธีคิดแบบ DIY (Do-It-Yourself) ทำนองว่า ทำเองก็ได้ ไม่ต้องง้อใคร ผมว่าตรงนี้น่าสงสัยเพราะ วงส่วนใหญ่ก็เซ็นสัญญากับค่ายทั้งนั้น ไม่ได้มีใครตั้งค่ายเอง (แต่ตรงนี้จะไปชัดมากๆ ในพวก Hardcore[2] ของอเมริกันยุคต่อมา) อย่างไรก็ดีแนวคิด DIY นั้นชัดเจนมากในการปรากฏตัวของแฟนซีน (ซึ่งว่ากันว่าพวกพังค์นั้นเป็นพวกแรกที่ทำ) และ เสื้อผ้าแบบทำเอง

โดยสรุปแล้วถ้าจะถามผมแล้ว ผมเห็นว่า Punk นั้นเป็นทรรศนะคติโดยรวมๆ ของคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งในตอนนั้นมากกว่าที่จะเป็นแนวดนตรีอย่างเดียว (มิเช่นนั้นผมคงจะเขียนประเด็นนี้สั้นๆ ได้ แต่ผมว่านั่นไม่ทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นเข้าใจแต่อย่างใด ในฐานะที่ผมศึกษาตรงนี้มาผมก็อยากจะทำให้มันชัดเจนขึ้นมาบ้าง)

ซึ่งแน่นอนว่าทรรศนะคติเหล่านี้โดยร่วมๆ มีผลต่อการทำดนตรีของดนตรีแนวต่อๆ มาอย่างชัดเจน ถ้าคุณไม่เข้าใจ DIY คุณก็อาจไม่เข้าใจว่าทำไมซาวน์มันห่วย (เพลงที่เน้นไม่ต้องพึ่งทุนใหญ่อัดกันถูกๆ จะเอาซาวน์นิ้งๆ มาจากไหน) ถ้าคุณไม่เข้าใจเรื่องการทำลาย Gap คุณก็อาจไม่เข้าใจว่าทำไมเพลงพวกนี้มันเล่นง่าย เป็นต้น

แนวดนตรีต่อมาที่สืบทอดพวก Punk มาอย่างชัดเจนคือพวก Hardcore (หากยังไม่ชัวร์ให้กลับไปดูเชิงอรรถที่สอง) และ UK 82 (คำนี่เรียกขึ้นมาทีหลังสำหรับพวกพังค์อังกฤษรุ่นที่สองที่ดนตรีคล้ายกับพวก Hardcore อเมริกันอยู่เหมือนกันแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการมีอิทธิพลต่อกันและกันหรือไม่ วงพวกนี้ก็เช่น The Exploited, Discharge, Broken Bones, Charged GBH, Amebix เป็นต้น) พวกนี้จะโผล่มาชัดๆ ต้น 80 (ส่วนใหญ่ฟอร์มกันมาตั้งแต่ปลายๆ 70 แล้ว) งานจำนวนมากของพวกนี้นั้นทำออกกับสังกัดตัวเองจำนวนไม่มาก (ซึ่งทำให้พวกนี้หาฟังยากชิบเลย) แต่ผมว่าพวกนี้แหละที่บรรลุอุดมคติสารพัดของพวก Classic Punk ทั้งต่อต้านสุดๆ (ลองไปดูเนื้อหาพวกนี้สิผมว่าเน้นๆ เลยนะอัดกันมันจริงๆ) และไม่โดนกลืนไปโดยตลาด (ผมว่าส่วนนี้สำคัญมากเลยนะสำหรับ Punk ในฐานะที่เป็นวิถีในการทำเพลง) อย่างไรก็ดีงานพวกนี้จำนวนมากได้สร้างอิทธิพลในวงการดนตรีอย่างมหาศาล ถ้าคุณลองไปดูลิสต์โปรดของศิลปินในสายพังค์และเมทัลหลายๆ คนอาจจะเจองานพวกนี้อยู่ในลิสต์ก็ได้ (ที่ผมนึกออกตอนนี้ก็มี ตัว Kurt Cobain ที่รู้สึกจะชอบอัลบั้ม My War ของ Black Flag มาก กับ Metallica ที่ Cover เพลง Free Speech for the Dumb ของ Discharge ในอัลบั้ม Garage Inc.)

อ้อ ลืมอธิบายไปพวก Hardcore และ UK 82 นั้นมีจุดเด่นๆ ก็คือ มีเนื้อหาที่ต่อต้านอย่างเด่นชัด (ค่อนข้างชัวร์ว่าไม่มีเพลงจุ๋มจิ๋มมาบนแบบพวก Classic Punk หลายๆ วง) และมีดนตรีที่ค่อนข้างรกและไวกว่าพวก Punk (แต่พื้นฐานส่วนใหญ่ยังใช้ Power Chord อยู่) การใช้ริฟฟ์นั้นจะเริ่มไปในทางที่มันขัดๆ หู คือไม่ค่อยเป็นไปตาม Pattern พื้นๆ ของเสกลหรือโครงสร้างเพลง ซึ่งก็สอดคล้องกับเสียงร้องที่เริ่มจะไม่มีเมโลดี้ (เมื่อโครงสร้างเพลงไม่เอื้อให้เมโลดี้วิ่ง ก็ร้องมีเมโลดี้ไม่ได้ผมประยุกต์ใช้คำอธิบายนี้กับหลายๆ อย่างรวมทั้งพวก Extreme Metal ด้วย … แต่ลองคิดไปคิดมาเผลอๆ พวก Hardcore กับ UK 82 นั้นเป็นแนวดนตรีแรกๆ ในฐานะแนวดนตรี เพราะถ้าจะเอาเป็นวงๆนั้น Venom และพวก NWOBHM (New Wave of British Heavy Metal) บางวงนั้นก็อาจจะทำก่อน แต่ก็ยังจัดเป็นข้อยกเว้นในกระแส เพราะวงส่วนใหญ่ก็ยังร้องมีเมโลดี้- ที่เริ่มร้องไม่มีเมโลดี้ก็ได้) จะเป็นกึ่งบ่นกึ่งตะโกน (ผมยืมคำนี้มาใช้หน่อยผมว่ามันอธิบายได้ดี) ซึ่งตรงนี้จะต่างจากพวก Classic Punk มากตรงที่พวกนั้นเพลงจะค่อนข้างจะไม่ได้ขัดหู จะใช้คอร์ดพื้นๆ กับโครงสร้างเพลงพื้นๆ ซึ่งมันก็เอื้อให้กับการร้องแบบมีเมโลดี้เช่นกันแม้ว่าจะมีการใช้เสียงที่ค่อนข้างกวนตีนและ (จงใจ?) ร้องเพี้ยนในหลายๆ กรณี

ผมจบที่ Hardcore กับ UK 82 แล้วกันครับเดี๋ยวมันจะยาวเลยเถิดไปสำหรับ Punk


[1] โดยเฉพาะ พวก Pop-Punk ของต้น 90 ที่ปัจจุบันมักจะถูกเรียกว่า Punk เฉยๆ เหมือนกัน ทำให้สับสนได้เวลาคำนี้ปรากฏว่ามัน Punk ไหนกันแน่ หลายๆ คนก็เหมาๆ รวมไปว่ามันเป็นพวกเดียวกัน แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็ต้องมองหาแก่นสารของ Punk จากจุดร่วมของทั้งสองกระแสดนตรี ซึ่งทำให้แก่นสารหลายๆ อย่างของ Punk – เช่น การต่อต้าน บรรษัทใหญ่, วิถี DIY (Do-It-Yourself), การต่อต้านสถาบันหลักๆ ในสังคม (Anti-Establishment) – ก็คงหายไปเหมือนกันเพราะนั่นไม่ใช่จุดร่วมของ Punk ทั้งสองแบบ Pop Punk ตอนต้น 90 ที่เป็นกระแสแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย จะเหลือก็แต่ดนตรีที่ไปละม้ายกับคลาสสิคพังค์บางวงอย่างเล็กน้อย จนพอจะนับเป็นลูกหลานได้เท่านั้น

[2] พูดถึง Hardcore แล้วคนไทยทั่วๆ ไปนั้นก็จะเข้าใจว่าหมายถึงแนวดนตรีที่ปรากฏขึ้นมาชัดเจนก่อนสิ้นสหัสวรรษไม่นานอันมี ท่อนริฟฟ์กีต้าร์แบบโยกๆ ไลน์กลองที่ได้รับอิทธิพลจากฮิปฮอป และ การร้องกึ่งตะโกนกึ่งสำรอกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ อย่างไรก็ดีแนวดนตรีนี้มันจะเรียกกันในหมู่คนที่ฟังเพลงร็อคอย่างจริงจังว่า Nu-Metal วงดนตรีดังๆ ในกระแสดนตรีนี้ เช่น Korn, Limp Bizkit, Linkin Park เป็นต้น ในขณะที่คำว่า ฮาร์ดคอร์ สำหรับผู้ที่ฟังเพลงอย่างจริงจังนั้นจะหมายถึงกลุ่มดนตรีที่ปรากฏขึ้นทั่วอเมริกาตอนต้นทศวรรษที่ 80 ซึ่งได้รับอิทธิพลของ Classic Punk มาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ เรื่องวิถีแบบ DIY และ การต่อต้านค่ายเพลงใหญ่ ซึ่งมีวงดังๆ ในกระแสดนตรีอย่าง Black Flag, Dead Kennedys, Minor Threat, Bad Brains เป็นต้น